วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กิเลสคืออะไร







กิเลสคืออะไร
http://www.xn--72cb7cppl0dtw4qc3d.com/
ในบรรดาสัจธรรมที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ กิเลส เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง คนทั่วไปพูดถึงคำว่ากิเลสเสมอ แต่มักจะเข้าใจไม่ถ่องแท้ถึงความหมายของ กิเลส ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสิ่งไม่ดี คำว่ากิเลสทางพุทธศาสนามีความกว้างขวางลึกซึ้ง และถือว่ามีความสำคัญใหญ่หลวงต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงควรทำความเข้าใจให้ดี ได้มีผู้จำแนกกิเลสออกได้ถึง 1,500 อย่าง แต่เมื่อรวบรวมเข้าเป็นกลุ่มแล้ว ย่อได้เพียง 5 อย่าง คือ โลภะ โทษะ โมหะ มานะ และทิษฐิ แต่ที่คนทั่วๆไปพูดถึงเพียง 3 ข้อแรก คือ โลภ โกรธ และหลง
ในทางศาสนา กิเลสหมายถึงเครื่องเศร้าหมอง อันประกอบด้วย ตัณหา อุปาทาน และอวิชา ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในหลักธรรมที่สำคัญคือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เกี่ยวกับเหตุและหนทางที่จะพ้นทุกข์ อันเป็นเรื่องใหญ่แต่จะขอนำมาเขียนไว้พอเป็นสังเขปตามลำดับ
ตัณหา เป็นคำที่ฟังดูไม่ดีและเอียงไปทางด้านเกี่ยวกับทางเพศ เช่น ตัณหากลับ หรือมากตัณหา แต่ความหมายทางศาสนากว้างขวางกว่านี้มาก หมายถึง ความทะยานอยากได้ในสิ่งที่เกินกว่าธรรมชาติ ตัวอย่างที่พอเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ถ้าคนหิวข้าวอยากกินข้าวตามธรรมดา พอให้หายหิว ไม่เป็นตัณหา ถ้าอยากกินอาหารตามเหลาดีๆเป็นตัณหา
ในสังคมปัจจุบันมีปัจจัยส่งเสริมให้คนมีตัณหามากขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และไม่มีข่าวสารทางโลกเข้ามาโน้มนำมากนัก ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเตอร์เนท ดังนั้นความทะยานอยากได้สิ่งต่างๆจึงมีไม่มาก แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของประเทศ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ก็ติดตามไปถึง เรียกว่าอยู่ในโลกของข่าวสารข้อมูล คนอยู่ชนบทดูโทรทัศน์เห็นนางเอกบ้านสวยในละครก็อยากมี เบื่อบ้านหลังคามุงแฝกหรือมุงสังกะสี เห็นพระเอกมีรถยนต์หรูหราก็อยากได้ ทั้งๆที่เงินจะซื้อจักรยานยนต์ก็ยังไม่มี คนในเมืองก็อยากได้สิ่งที่ตนเองยังไม่มี ดังนั้นความเจริญของโลกเป็นเหตุกระตุ้นให้คนเกิดตัณหามากขึ้น
ตัณหานี้แต่ละคนมีไม่เท่าเทียมกัน และเกิดขึ้นตามช่วงต่างๆของชีวิต ได้แก่ ตัณหาที่มีมาตั้งแต่เกิดติดมากับปฏิสนธิวิญญาณ รู้จักหิว อยากดื่ม อยากกินสิ่งที่ชอบ เมื่อคนเจริญเติบโตขึ้นได้รู้เห็นกับสิ่งเร้าต่างๆได้แก่ รูปรสกลิ่นเสียง ทำให้เกิดตัณหามากขึ้น แต่ละคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน ถ้าผู้ใดยังคุมตัณหาให้อยู่ในความพอดีก็จะไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าระงับไม่ได้ก็จะทำให้เกิดความผิดต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผิดศีลข้อต่างๆ ทำให้เกิดการปฏิบัติในทางมิชอบทั้งกาย วาจา และใจ
ถึงแม้ตัณหาเป็นธรรมชาติฝ่ายอกุศลแต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ตัณหาก็มีส่วนดี และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องมี จะตัดออกไปไม่ได้ (นอกจากอริยบุคคล) จึงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะตัณหาที่อยากทำดีก็มีมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของตนเองและสังคม แม้แต่ผู้รักษาศีลทำบุญทำทานภาวนา ก็เพื่อหวังผลในชาติหน้าหรือหวังนิพพาน ซึ่งนับเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ความสำคัญของการดำรงตนของมนุษย์ก็คือการคุมระดับตัณหาให้อยู่ในความพอดี
ตัณหามีตัวเร้าอยู่ 6 ประการ คือความอยากเกี่ยวกับ รูป (รูปตัณหา) รส (รสตัณหา) กลิ่น (คันธตัณหา) เสียง (สัททตัณหา) สัมผัส (โผฏฐัพพตัณหา) และความอยากเสพอารมณ์ (ธัมมตัณหา) จึงเรียกตัณหา 6 และแต่ละอย่างสามารถแยกออกไปอีก 3 อาการ คือ

1. กามตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ ของตัณหา 6 ประการ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น อยากได้ของสวยที่ตนไม่มีสิทธิได้ อยากรับทานอาหารทิพย์ อยากได้กลิ่นหอมของเทวดา อยากฟังเสียงจากสวรรค์ อยากมีรูปงามอย่างนางฟ้า อยากมีบ้านสวย ทำให้ไม่รู้จักพอ เป็นต้น

2. ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็น อยากมี หรืออยากให้อยู่ เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นเจ้า อยากเป็นดารา นักร้อง จนถึงอยากนิพพาน ก็นับเป็นตัณหา

3. วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากไม่ให้เป็น ไม่ให้อยู่ หรือให้พ้นไป ของสิ่งที่สมควรจะเป็น เช่น ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ไม่อยากให้สิ่งที่มีอยู่หมดสิ้นไป หรือเชื่อว่าตายแล้วสูญไม่เกิดอีก ในความเป็นจริงลักษณะของตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ไม่ได้เกิดตามลำพังแต่เกิดต่อเนื่องกัน เช่น กามตัณหา คือ อยากได้ เมื่อได้มาแล้วก็เป็นภวตัณหา คือ อยากให้อยู่ตลอดไป แต่เมื่อเบื่อก็เกิดวิภวตัณหา คืออยากให้พ้นไปจากตน จึงรวมเรียกว่า ตัณหา 3



สรุปว่า ตัณหา 6 คือ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสและใจ ก็ย่อมมีตัณหา 3 อยู่ด้วย คือ อยากได้ อยากให้อยู่ และอยากให้พ้นไป อยู่ร่วมด้วยทุกข้อ จึงรวมเป็นตัณหา 18 ซึ่งถ้าแบ่งเป็นภายนอกและภายในจะเป็นตัณหา 36 และถ้ายังแบ่งต่อไปโดยนับกาลเวลาว่าเป็นเมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงเป็นตัณหา 108 ดังนี้
ตัณหานี้แต่ละคนมีไม่เท่าเทียมกัน เพราะมี 3 ระดับ คือมีมาตั้งแต่เกิดติดมากับปฏิสนธิวิญญาณ เรียกอนุสัยกิเลส ทำให้คนเรารักตัวเอง จะมากหรือน้อยต่างกันออกไป ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้น กระทบกับสิ่งเร้ารูปรสกลิ่นเสียงใจ ก็เกิดตัณหามากขึ้น ซึ่งถ้ายังคุมให้อยู่ในสภาพอันควรได้ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าคุมตัณหาไม่อยู่ทำให้เกิดการละเมิดศีลต่างๆ ทำผิดต่างๆทั้งกาย วาจา ใจ ที่เป็นขั้นสุดท้ายเรียก วีติกรรมกิเลส อาจทำบาปด้วยวิธีต่างๆจนถึงการฆ่าให้ตาย
อุปาทาน เป็นตัวกิเลสที่ต่อมาจากตัณหา คือเมื่อคนเรามีความทะยานอยากแล้วก็เกิดอุปาทานคือความหลงเชื่อผิดว่าเป็นของตน ทำให้มีการ ยึดถือ ไม่ยอมปล่อย ไม่ว่าจะเป็นยศ ศักดิ์ สรรเสริญ บริวาร ทรัพย์สมบัติ หรือรูปกายของตน จะมีอุปาทานยึดมั่นว่าเป็นของตนทั้งสิ้น โดยลืมนึกไปว่าอย่าว่าแต่ของนอกกายเหล่านี้เลย แม้แต่ร่างกายของเรายังยึดไม่อยู่ มีป่วย มีแก่ชรา มีตาย สลายไป อุปาทานจึงเป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอันหนึ่ง ซึ่งอาจแยกสาเหตุได้หลายอย่าง ได้แก่
อัตตวาทุปาทาน เป็นข้อสำคัญที่สุดคือความยึดมั่นว่าเห็นตนเองหรืออัตตาเป็นตัวเรา สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตนและยึดไว้ไม่ยอมปล่อย อันจะเป็นเหตุให้เกิดภพชาติต่อๆไป พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ยึดว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
กามุปาทาน ความยึดมั่นในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัสและการบริโภคของที่มีที่ได้
ทิฏฐปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตนว่าเป็นสิ่งถูกต้องแน่นอน
สีลพัตตุปาทาน ความยึดมั่นกับศิลพรต ซึ่งมีข้อยึดถือข้อปฏิบัติต่างๆกันว่าของตนถูกต้อง ซึ่งเป็นความงมงาย

ซึ่งถ้าดูเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ที่เห็นคนเขาทะเลาะโต้เถียงกันอยู่ แบ่งพรรคแบ่งพวก จนถึงฆ่ากันตาย ก็เกิดจากข้อกามุปาทานกับทิฎฐปาทาน ในประเทศที่ต่างศาสนาตีกันฆ่ากันอยู่ก็จากสิลพัตตุปาทาน ต่างยึดมั่นของตน จนเกิดมีการสู้รบแย่งดินแดนกัน คนแย่งที่ดินกัน แย่งหญิงแย่งชายกัน ก็เป็นอัตตวาทุปาทานนั่นเอง ดังนั้นอุปาทานจึงเป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างชัดเจนดังนี้ ผู้ใดจะปฏิบัติตัวให้พ้นทุกข์ จึงต้องลดตัณหา อุปาทาน ให้บางลงมากที่สุด แต่ก็คงเป็นความจริงที่ว่าผู้ที่มีตัณหาอุปาทานน้อยมากคงจะดำรงชีวิตในสังคมมนุษย์ที่แย่งชิงแข่งขันกันทุกสิ่งได้ยาก เราคงจะต้องเดินสายกลางในการดำรงชีวิต รู้เท่าทันตัวตัณหาอุปาทานก็พอจะแก้ไขให้ได้ดีต่อตัวเรามากที่สุด
อวิชชา คือ ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของ กิเลส แปลตามตัวหมายถึง ความไม่รู้จริงไม่รู้แจ้ง ความโง่ ความไม่รู้ทันเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต รวมถึงความไม่ยอมรับรู้ และความรู้ผิดด้วย ซึ่งทางโลกคำว่าวิชามักจะหมายถึงผู้ที่มีการศึกษา แต่ในทางธรรมไม่ได้หมายถึงความรู้ที่ได้จากวิชาที่ได้จากการศึกษา แต่เป็นวิชาที่เกิดจากการศึกษาทางธรรมของพระพุทธองค์พระองค์เดียวและปฏิบัติทางจิตจนสามารถรู้ทันกิเลส ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ทำให้เบาบางลง ผู้ที่มีอวิชชาอาจจะจบปริญญาเอกจากมหาวิยาลัยที่เด่นดังที่สุดในโลก ได้เหรียญได้รางวัลต่างๆมีชื่อเสียง แต่ถ้าไม่รู้ทันตัณหา อุปาทาน รวมทั้งไม่รู้จักอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้ว ทางธรรมก็ถือเป็นผู้ที่มีอวิชชาทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถรู้ถึงทางที่จะพ้นทุกข์ คือนิพพานได้ เพราะยังติดตัณหาอุปาทานที่จะนำให้เกิดภพเกิดชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นเพราะความสำคัญเช่นนี้ในปฏิจจสมุปบาทจึงเริ่มต้นด้วยคำว่า อวิชชา
กิเลสข้อที่สำคัญที่สุดคือ อวิชชา คือความไม่รู้ ความไม่รู้จริง ไม่รู้แจ้ง ในเรื่องของชีวิต ของสังขาร ของบาปบุญ รู้เรื่องของการเกิดดับฯ อวิชชาทำให้เกิดกิเลสตัวอื่น คือ ตัณหา และอุปาทาน และทำนองเดียวกัน การเกิดตัณหาและอุปาทานทำให้เกิดอวิชชา อวิชชาจึงเป็นกิเลสตัวใหญ่ ถ้าแก้ความไม่รู้ได้ ก็จะไม่มีตัณหาและอุปาทาน ก็จะหมดซึ่งกิเลสทั้งปวง